การติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้อยู่ในตำแหน่งที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้นควรจะปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อทำให้ระยะสูบสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็เป็นเหตุทำให้ท่อดูดสั้นลงไปด้วย ความสูญเสียเนื่องจากการเสียดทานของน้ำก็จะลดลงตามปริมาณน้ำที่สูบได้ก็จะเพียงพอกับความต้องการและคุ้มค่ากับหลังงานที่ต้องเสียไป
2. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้อยู่บนฐานอย่างมั่นคง รองด้วยยางระหว่างแท่นเครื่องกับฐาน เพื่อลดการสั่นสะเทือน
3. ตรวจสอบทิศทางหมุนของใบพัดให้ถูกต้อง โดยเทียบได้จากทิศทางของลูกศรที่เขียนติดอยู่กับเรือนสูบ
4. ถ้าใช้ลิ้นหัวกะโหลกด้วยก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตั้งลิ้นกันน้ำไหลกลับที่ท่อส่งเพราะเหตุว่าเมื่อหยุดสูบน้ำที่ค้างอยู่ในท่อส่งจะไหลกลับคืนมายังเครื่องอย่างแรงและรวดเร็ว อาจทำให้เรือนสูบแตกร้าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สูบน้ำขึ้นไปสูง ๆ
5. ในกรณีที่สูบน้ำจากแม่น้ำหรือลำคลองที่ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมาก ก็ควรจะติดตั้งท่อดูดหรือเครื่องสูบน้ำไว้บนแพ
6. เมื่อมีการต่อท่อโค้ง (ใช้ข้องอ) ใกล้กับเครื่องสูบน้ำ ความยาวของท่อน้ำก่อนที่จะถึงส่วนโค้งควรจะยาวอย่างน้อย 5 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ
7. การวางท่อดูดที่ถูกต้องนั้นอย่าให้หัวกะโหลกสัมผัสกับก้นคลองหรือขอบคลองเพราะจะทำให้น้ำไหลเข้าท่อไม่สะดวก วิธีที่ถูกคือ ควรจะยกปลายท่อดูดให้หัวกะโหลกอยู่ห่างจากพื้นประมาณ 10-15 ซม. ถ้ายกสูงชิดผิวน้ำมากเกินไป น้ำบริเวณหัวกะโหลกจะหมุนวน โอกาสที่อากาศซึ่งไม่เป็นที่ต้องการจะปนเข้าไปกับน้ำที่สูบมีมาก(ฟองอากาศขนาดเล็ก วิ่งด้วยความเร็วสูง เข้ากระแทกใบพัดทำให้ใบพัดสึกได้) ถ้าเป็นไปได้ควรจะวางท่อดูดให้อยู่ในบริเวณที่มีน้ำมากที่สุด ใช้ตะกร้าไม้ไผ่หรือชะลอมหุ้มหัวกะโหลกไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันเศษขยะหรือเศษสวะไหลเข้าไปได้ สำหรับข้อต่อทุกอันนั้นต้องต่อให้แน่น อย่ามีรูให้อากาศรั่วเข้าโดยเด็ดขาด
8. ระดับปากท่อส่งควรจะอยู่สูงกว่าระดับกึ่งกลางของเครื่องสูบน้ำประมาณ 50 ซม. เพื่อกักน้ำให้เหลืออยู่ภายในเครื่องสูบน้ำ เมื่อหยุดสูบ อากาศภายนอกก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปแทนที่
ข้อควรปฏิบัติในการใช้เครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง
สิ่งสำคัญที่สุดในการสูบน้ำคือ ตราบใดที่ยังมีอากาศหลงเหลืออยู่ในท่อหรือเรือนสูบจะสูบน้ำไม่ขึ้น ไม่ว่าใบพัดจะหมุนเร็วเท่าใด
1. การปฏิบัติก่อนเดินเครื่อง
1.1 หมุนเพลาของเครื่องสูบน้ำด้วยมือเพื่อให้แน่ใจว่าหมุนได้คล่อง
1.2 เปิดประตูน้ำทางท่อดูดให้เต็มที่ ถ้าระบบสูบน้ำได้ติดตั้งประตูน้ำไว้ที่ท่อดูด
1.3 ถ้าใช้ท่ออ่อน ต้องขันเข็มขัดรัดปากท่อให้แน่นเมื่อสวมท่ออ่อนเข้ากับท่อส่งแล้ว ถ้าท่ออ่อนเป็นชนิดที่มีหน้าแปลน ต้องรองด้วยปะเก็นยางและขันน็อตให้แน่น ถ้าท่อแข็งต้องตรวจและขันข้อต่อต่าง ๆ ให้แน่น
1.4 ทำความสะอาดหัวกะโหลกบริเวณตะแกรงกรอง และตรวจสอบว่าหัวกะโหลกขันติดแน่นกับปลายท่อดูดหรือไม่ ควรเขย่าดูด้วยว่าลิ้นหัวกะโหลกทำงานหรือไม่ ถ้าทำงานเป็นปกติจะได้ยินเสียงดังอยู่ภายในหัวกะโหลก
1.5 ถ้าติดตั้งประตูน้ำหรืก๊อกไว้กับท่อส่ง ก็เปิดให้พอดีกับความต้องการใช้
2. การปฏิบัติเมื่อจะเริ่มเดินเครื่อง
2.1 ล่อน้ำหรือเติมน้ำลงในท่อดูดให้ขึ้นมาจนเต็มเครื่องสูบน้ำ ซึ่งที่จริงก็คือการไล่อากาศที่อยู่ในท่อดูดและเรือนสูบออกนั่นเอง เมื่อน้ำถูกใบพัดเหวี่ยงออกไปทางท่อส่งความดันภายในเรือนสูบจะลดต่ำลง ความดันของบรรยากาศภายนอกจะดันน้ำให้ไหลเข้าไปภายในท่ออย่างสม่ำเสมอ ถ้าน้ำไม่เต็มท่อจะสูบน้ำไม่ขึ้น เพราะอากาศที่หลงเหลืออยู่จะต้านทานความดันของบรรยากาศไว้ไม่ให้ดันน้ำเข้าไปภายในท่อดูด สำหรับวิธีล่อน้ำนั้น โดยปกติเพียงแต่เติมน้ำลงไปทางช่องเติมน้ำของเครื่องสูบน้ำจนล้นออกมา หลังจากนั้นก็รอดูสัก 2-3 นาที ถ้าระดับน้ำไม่ลดลงไปแสดงว่าท่อดูดไม่รั่ว การสูบน้ำก็เริ่มต่อไปได้
2.2 ในกรณีที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำใหม่ ก่อนเดินเครื่องต้องตรวจสอบทิศทางการหมุนของเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ให้สอดคล้องกับทิศทางการหมุนของเครื่องสูบน้ำเสียก่อน
3. การปฏิบัติขณะเครื่องสูบน้ำทำงาน
3.1 ถ้าติดตั้งประตูน้ำไว้ที่ท่อส่งและใช้เครื่องยนต์ฉุด ก็ให้รอจนกว่าเครื่องสูบน้ำจะหมุนได้ความเร็วรอบตามที่ต้องการเสียก่อน จึงจะเปิดประตูน้ำเพื่อให้ได้น้ำที่มีความดันและปริมาณตามที่ต้องการ
3.2 ตรวจสอบลูกปืนและปลอกประกับเพลา อย่าให้มีเสียงผิดปกติหรือร้อนมากเกินไป
3.3 ตรวจสอบเสียง ถ้ามีการดูดอากาศหรือของแข็งเข้าไปในเครื่องสูบน้ำจะเกิดเสียงดังผิดปกติขึ้นภายใน
3.4 ตรวจสอบการสั่นสะเทือน การสั่นสะเทือนนี้อาจจะเกิดขึ้นจากการต่อกันระหว่างเครื่องยนต์หรือมอเตอร์กับเครื่องสูบน้ำที่ไม่ได้ศูนย์หรือหลวม
3.5 ถ้าเป็นไปได้ให้ตรวจสอบปริมาณน้ำที่สูบได้ โดยการนำภาชนะที่ทราบขนาดไปรองรับน้ำที่สูบขึ้นมาภายในระยะเวลาหนึ่ง การตรวจสอบนี้จะทำให้ทราบว่าอัตราของน้ำที่สูบได้มีค่าเท่ากับอัตราของน้ำที่ระบุไว้ในหนังสือคู่มือหรือไม่
3.6 ตรวจสอบรอบเครื่อง เมื่อเครื่องยนต์เดินแล้วหรือมอเตอร์หมุนแล้วถ้ารอบเครื่องสูงมากเกินไปจะเห็นฟองอากาศปนออกมากับน้ำที่สูบ เนื่องจากน้ำในเรือนสูบถูกพัดแรงเกินไปจนเกิดฟอง ถ้ารอบเครื่องไม่พอ ปริมาณน้ำที่สูบออกมาจากท่อส่งจะมีน้อย และไม่คงที่ นอกจากนั้นความดันของน้ำจะต่ำ ดังนั้นควรปรับเครื่องให้หมุนได้รอบเท่ากับที่ระบุไว้ในหนังสือคู่มือของเครื่องสูบน้ำ
4. การปฏิบัติเมื่อเลิกใช้งาน
4.1 เมื่อหยุดเครื่องสูบน้ำ ให้ปิดประตูน้ำทางท่อส่ง เพื่อป้องกันน้ำไหลกลับมากระแทกเครื่องสูบน้ำ
4.2 ในกรณีที่ต้องหยุดเครื่องไว้เป็นเวลานาน ๆ ให้ปล่อยก๊อกระบายน้ำออกจากเครื่องสูบน้ำให้หมด
4.3 ทำความสะอาดภายนอกเครื่องสูบน้ำและเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ที่ใช้ฉุด
4.4 ถอดทำความสะอาดท่อดูดและท่อส่ง อย่าให้มีน้ำหรือสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะแกรงกรองและลิ้นหัวกะโหลก ท่อเหล่านี้ควรจะแห้งสนิทเวลานำไปเก็บ ถ้าเป็นท่อผ้าใบก็จำเป็นต้องคลี่ออกให้สุดความยาว ล้างและผึ่งแดดให้แห้ง ก่อนที่จะม้วนและนำไปแขวนเก็บไว้ให้ห่างจากพื้นดิน เพื่อไม่ให้รับความชื้นที่มาจากดินอีก
4.5 บำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ถูกต้องตามหลักการเกี่ยวกับการเก็บเมื่อไม่ใช้งานเป็นเวลานาน ๆ ถ้าใช้เครื่องยนต์เป็นตัวฉุดเครื่องสูบน้ำนั้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง
เมื่อใช้งานไปนาน ๆ เครื่องสูบน้ำอาจจะเกิดการขัดข้องขึ้นมาได้ ตั้งแต่หัวกะโหลกจนถึงปลายท่อส่ง ตารางต่อไปนี้จะแสดงข้อขัดข้องที่พบกันทั่ว ๆ ไป ซึ่งรวมทั้งสาเหตุและวิธีแก้ไขด้วย
สาเหตุและข้อขัดข้องที่เกิดกับเครื่องสูบน้ำและวิธีแก้ไข้
ข้อขัดข้อง |
สาเหตุ |
วิธีแก้ไข |
1. ล่อน้ำแต่น้ำรั่วออก | - สิ่งสกปรกเข้าไปติดขัดลิ้นหัวกะโหลก
- ท่อดูดรั่ว |
- ทำความสะอาดลิ้นหัวกะโหลก
- ซ่อมหรือเปลี่ยนท่อใหม่ อย่าลืมต่อข้อต่อต่าง ๆ ให้แน่นหรือใช้ดินเหนียวพอกเพื่อกันรั่วชั่วคราว |
2. สูบน้ำได้น้อยลงหรือ | - อากาศรั่วเข้าท่อดูด
- ปะเก็นขาด - ลิ้นและตะแกรงหัวกระโหลกอุดตัน - หัวกะโหลกจมอยู่ในน้ำตื้นเกินไป -มีอากาศค้างอยู่ในท่อดูด - สิ่งสกปรกเข้าไปขัดในใบพัด - ส่งน้ำขึ้นสูงเกินไป - เครื่องสูบน้ำหมุนผิดทาง - ตั้งเครื่องสูบน้ำไว้สูงจากผิวน้ำมากเกินไป |
- ซ่อมหรือเปลี่ยนท่อดูด อย่าลืมต่อข้อต่าง ๆ ให้แน่น
- เปลี่ยนปะเก็นใหม่ - ทำความสะอาดลิ้นหัวกะโหลกและตะแกรงกรอง - ลดหัวกะโหลกให้ต่ำลง - ยกท่อดูดให้ชันขึ้นเพื่อไล่อากาศออกแล้วล่อน้ำใหม่ - ถอดเครื่องสูบน้ำออกทำความสะอาด อย่าลืมขันน็อตทุกตัวให้แน่นเมื่อประกอบ - ลดตำแหน่งปลายท่อส่งให้ต่ำลง - กลับตำแหน่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องยนต์ หรือมอเตอร์ - ลดตำแหน่งเครื่องสูบน้ำให้ต่ำลงหรือเปลี่ยนท่อดูดให้ใหญ่ขึ้น |
3. ลูกปืนที่รองรับเพลาร้อนเกินไป | - เพลาของเครื่องสูบน้ำไม่ได้แนวกับเพลาของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์
- จาระบีเสื่อมคุณภาพ - สายพานตึงเกินไป |
- ปรับแนวเพลาใหม่
- เปลี่ยนจาระบีใหม่ - ตั้งสายพานให้หย่อนลง |
4. ปะเก็นร้อนเกินไป | - ปะเก็นอัดแน่นเกินไป
- จาระบีแห้ง |
- คลายน็อตที่อัดกระเปาะปะเก็น
- อัดจาระบีเพิ่ม |
5. เครื่องสูบน้ำเดินแล้วหยุด | - ท่อดูดรั่ว
- ปะเก็นขาด - ระดับน้ำที่กำลังสูบลดลงต่ำกว่าปกติ |
-ซ่อมหรือเปลี่ยนท่อใหม่ อย่าลืมขันน็อตข้อต่อต่าง ๆ ให้แน่น
- เปลี่ยนปะเก็นใหม่ - หยุดเครื่องสูบน้ำและรอจนกว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นหรือลดระดับเครื่องสูบน้ำให้ใกล้ผิวน้ำมากขึ้น |
6. เครื่องสูบน้ำมีเสียง | - ของแข็งหลุดเข้าไป
- อากาศรั่วหรือปนเข้าไปกับน้ำที่ดูด - ระดับน้ำที่กำลังสูบลดต่ำกว่าปกติ |
- ถอดเครื่องเอาสิ่งที่หลุดเข้าไปนั้นออกทิ้ง
- ซ่อมหรือเปลี่ยนท่อใหม่ อย่าลืมขันน็อตข้อต่อต่าง ๆ ให้แน่น - หยุดเครื่องสูบน้ำและรอจนกว่าระดับน้ำจะสูงขึ้น หรือลดระดับเครื่องสูบน้ำให้เข้าไปใกล้ผิวน้ำมากขึ้น |
7. เครื่องสูบน้ำสั่นมาก | - ฐานเครื่องสูบน้ำไม่มั่นคง
- เพลาของเครื่องสูบน้ำกับเพลาของเครื่องนนต์หรือมอเตอร์ไม่ได้ศูนย์ - ชิ้นส่วนหนึ่งที่หมุนไม่สมดุลย์ เช่น เพลาเอียง มู่เล่บิด |
- ตั้งฐานเครื่องสูบน้ำให้แน่นหนา
- ปรับศูนย์เพลาใหม่ -ปรับและถ่วงใหม่ |
สรุป
เนื้อหาทั้งหมดที่เขียนไว้ทำให้เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจได้รู้จักเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบ การทำงาน การเลือกซื้อเครื่องสูบน้ำที่เหมาะสมที่สุดกับการใช้งาน ตลอดจนการติดตั้งและใช้งานที่ถูกหลักการ รวมทั้งการซ่อมแซมแก้ไข ซึ่งเป็นการทำให้การใช้เครื่องสูบน้ำคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด